น้ำพระทัย สร้างชีวิตใหม่ให้ “พื้นที่ชุ่มน้ำบึงโขงหลง”

Posted on October, 27 2016

เรื่องน้ำนี้ก็เป็นปัจจัยหลักของมวลมนุษย์ ไม่ใช่มนุษย์เท่านั้น แม้สิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ทั้งสัตว์ทั้งพืช ถ้าไม่มีก็อยู่ไม่ได้
 “… เรื่องน้ำนี้ก็เป็นปัจจัยหลักของมวลมนุษย์ ไม่ใช่มนุษย์เท่านั้น แม้สิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ทั้งสัตว์ทั้งพืช ถ้าไม่มีก็อยู่ไม่ได้ เพราะว่าน้ำเป็นสื่อ หรือเป็นปัจจัยสำคัญของสิ่งมีชีวิต แม้สิ่งไม่มีชีวิตก็ต้องการน้ำเหมือนกัน มิฉะนั้นก็จะกลายเป็นอะไรไม่ทราบ เช่น ในวัตถุต่างๆ ในรูปผลึกก็ต้องมีน้ำในนั้นด้วย ถ้าไม่มีน้ำก็จะไม่เป็นผลึก กลายเป็นสิ่งที่ไม่มีรูป ฉะนั้น น้ำนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญ…”
ส่วนหนึ่งของพระราชดำรัสเรื่องการจัดการน้ำ เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2532 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
 
พื้นที่ชุ่มน้ำบึงโขงหลงในอดีต เป็นเส้นทางไหลของลำห้วยน้อยใหญ่หลายสายที่ไหลหล่อเลี้ยงชีวิตชาวบ้านในหลายหมู่บ้าน ลำห้วยเหล่านี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำเมาและแม่น้ำสงคราม ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำโขง ทว่าในบางฤดู ชาวบ้านรอบๆ พื้นที่ก็ต้องประสบปัญหาขาดแคลนน้ำใช้เพื่อการอุปโภค บริโภคและทำการเกษตร เนื่องจากลำน้ำแห้งขอด
 
จนเมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2522 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนบ้านดอนกลาง และทรงมีพระราชดำริให้กรมชลประทาน สร้าง “ฝายน้ำล้น” ขึ้น เพื่อมากั้นน้ำในลำห้วยไว้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำตามธรรมชาติให้ชาวบ้านได้มีน้ำใช้ตลอดปี และช่วยรักษาความชุ่มชื้นของผืนดินให้เหมาะกับการเพาะปลูก

ฝายน้ำล้นดังกล่าวสร้างเสร็จในปี 2524 จุน้ำได้ 12 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นหนองน้ำขนาดใหญ่มีน้ำขังตลอดปี โดยได้รับชื่อตามอำเภอที่ตั้งว่า ‘บึงโขงหลง’ ด้วยพระปรีชาสามารถและสายพระเนตรอันกว้างไกลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ส่งผลให้ชาวบ้านทั้ง 19 หมู่บ้าน ซึ่งมีประชากรกว่า 20,000 คน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมไปถึงสิ่งมีชีวิตน้อยใหญ่ที่อาศัยบึงโขงหลงเป็นแหล่งพึ่งพิง ได้มีโอกาสขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนมากขึ้น อาทิเช่น ปลาและสัตว์น้ำต่างๆ  เกิดเป็นความหลากหลายทางชีวภาพที่สมบูรณ์

กระทั่งวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2544  “บึงโขงหลง” ได้รับการเสนอขึ้นทะเบียนประกาศให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญระหว่างประเทศ หรือ แรมซาร์ ไซต์ (Ramsar site) ลำดับที่ 2 ของไทย และลำดับที่ 1,098 ของโลก พื้นที่แรมซาร์ ไซต์  ซึ่งถือว่ามีความสำคัญต่อระบบนิเวศอย่างมาก เพราะไม่เพียงเอื้อให้เกิดความยั่งยืนและมั่นคงทางด้านอาหาร แต่ยังเป็นแหล่งเก็บกักน้ำ ป้องกันน้ำเค็มมิให้รุกเข้ามาในแผ่นดิน ป้องกันชายฝั่งพังทลาย ช่วยดักจับตะกอนและแร่ธาตุ ดักจับสารพิษ และที่สำคัญคือเป็น แหล่งอนุบาลพันธุ์สัตว์น้ำนานาชนิดและแหล่งรวมสายพันธุ์พืชที่หลากหลาย ส่งผลดีทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อผู้คนใกล้และไกลบึงโขงหลง
 
นอกจากนี้ การประกาศเป็นพื้นที่แรมซาร์ ไซต์ ยังมีข้อบังคับให้ภาคีแต่ละประเทศต้องดูแลทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ให้มีความสมบูรณ์ ต้องกำหนดและวางแผนการดำเนินงานการใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างชาญฉลาดควบคู่ไปด้วย คุณยรรยง ศรีเจริญ ผู้จัดการโครงการฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำสงครามตอนล่าง องค์กร WWF-ประเทศไทย  (องค์กรกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย) ซึ่งมีโอกาสทำงานตามรอยพระราชดำริในการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำบึงโขงหลง ได้สะท้อนถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงมีต่อชาวบ้านว่า 

“ราษฎรในพื้นที่ล้วนตระหนักและระลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงพระราชทานแหล่งน้ำ ทำให้ชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีแหล่งน้ำที่สมบูรณ์ได้อย่างทุกวันนี้ นอกจากนี้ ยังส่งผลให้ชุมชนอยากจะร่วมมือกันทำงาน เพื่อที่จะบริหารจัดการให้  “แหล่งน้ำของพ่อ” แห่งนี้ เกิดประโยชน์สูงสุด และมีความยั่งยืนตลอดไป
 
จากลำห้วยน้อยใหญ่ต่างที่มาแต่ด้วยสายพระเนตรอันกว้างไกลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในการพัฒนาการจัดการน้ำ ช่วยหลอมรวมให้สายน้ำสายเล็กๆ หลายสายกลายเป็นบึงใหญ่ สร้างสรรค์ชีวิตใหม่ให้กับชุมชนและสิ่งมีชีวิตที่อาศัยพึ่งพิงสายน้ำแห่งนี้ ทั้งนี้ ในปัจจุบันหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมไปถึงชาวบ้านที่รู้สึกรักและห่วงแหน แหล่งน้ำของพ่อ ต่างก็ช่วยกันทำงานเพื่อส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจในการใช้ประโยชน์จากบึงโขงหลงอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ผ่านการทำกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ เพื่อที่ แหล่งน้ำของพ่อ จะยังคงไหลหล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนและสิ่งมีชีวิตต่อไปตราบนานเท่านาน สมดังพระบรมราชปณิทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่เคยรับสั่งว่า
 
“….ถ้าหากว่า ปัญหาของน้ำนี้ เราได้สามารถที่จะแก้ไขหรืออย่างน้อยที่สุด ก็ทำให้เรามีน้ำใช้ อย่างเพียงพอ ฉะนั้นการพัฒนานั้นสิ่งสำคัญก็อยู่ตรงนี้ นอกจากนั้น ก็เป็นสิ่งที่ต่อเนื่อง เช่นวิชาการในด้านการเพาะปลูก เป็นต้น ตลอดจนถึงการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม หรือการค้า หรือการคลังอะไรพวกนี้ก็ต่อเนื่องต่อไป… “
พื้นที่ชุ่มน้ำบึงโขงหลง
© WWF-Thailand
พื้นที่ชุ่มน้ำบึงโขงหลง
© Kelsey Hartman
พื้นที่ชุ่มน้ำบึงโขงหลง
© Kelsey Hartman
พื้นที่ชุ่มน้ำบึงโขงหลง
© Nicolas Axelrod