WWF ประเทศไทย เผย พื้นที่แม่น้ำสงครามตอนล่าง พร้อมแล้วที่จะเป็น “พื้นที่แรมซ่า แห่งที่ 15”

Posted on June, 05 2018

WWF-ประเทศไทย ต้อนรับวันสิ่งแวดล้อมโลก เผยความสำเร็จในการเสนอพื้นที่แม่น้ำสงครามตอนล่าง ให้เข้ารับพิจารณาเป็นพื้นที่แรมซ่า แห่งที่ 15 ของประเทศไทย
5 มิถุนายน, กรุงเทพมหานคร- WWF ประเทศไทย เปิดเผยในวันสิ่งแวดล้อมโลกว่า โครงการฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำ แม่น้ำสงครามตอนล่าง ซึ่งเป็นโครงการระยะเวลา 3 ปี และได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากธนาคารฮ่องกงและเซี้ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ HSBC ได้รับการเสนอชื่อให้เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่ออนุมัติให้เป็น “พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ” หรือพื้นที่แรมซ่า RAMSAR แห่งที่ 15 ของประเทศไทย ซึ่งหากได้รับการรับรอง ก็จะถือเป็นพื้นที่แรมซ่าแห่งแรกของไทยที่เกิดจากการทำงานร่วมกัน ระหว่างองค์การส่วนท้องถิ่น องค์กรไม่แสวงหากำไร และองค์กรทางธุรกิจ และธนาคาร HSBC จะถือเป็นสถาบันการเงินแห่งแรกในประเทศไทยที่มีส่วนร่วมกับการเสนอชื่อพื้นที่แรมซ่า

พื้นที่ลุ่มแม่น้ำสงคราม เป็นหนึ่งในพื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย นับเป็นสาขาของแม่น้ำโขงแห่งเดียวในประเทศไทยที่ไม่มีสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ขวางกั้นตลอดลำน้ำ ทำให้ปลานานาชนิดในแม่น้ำสงครามสามารถว่ายไปตามลำน้ำได้อย่างอิสระ แม่น้ำสงครามจึงเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและขยายพันธุ์ของปลาและสัตว์น้ำจืดหลากหลายชนิด ตลอดจนเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญ ไม่เพียงแต่เพื่อชุมชนตลอดสองริมฝั่งแม่น้ำเท่านั้น แต่ยังรวมถึงส่วนอื่นของแม่น้ำโขงที่เชื่อมโยงถึงกันด้วย ที่สำคัญแม่น้ำสงคราม ยังใช้ประโยชน์ในการเกษตรกรรม โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าวในบริเวณนี้ พื้นที่ที่ถูกเสนอให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำนานาชาติ จะครอบคลุมลำน้ำระยะทาง 92 กิโลเมตร หรือ 34,000 ไร่ ซึ่งมีชุมชนในพื้นที่ 49 ชุมชน หรือประชากรประมาณ 240,000 คน

คุณเยาวลักษณ์ เธียรเชาว์ ผู้อำนวยการ องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF-ประเทศไทย กล่าวถึงโครงการนี้ว่า “โครงการฟื้นฟูที่ชุ่มน้ำ แม่น้ำสงครามตอนล่าง เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางธรรมชาติที่สำคัญ และส่งผลกระทบต่อชุมชนที่อยู่โดยรอบตลอดสองข้างลำน้ำ พื้นที่ชุมน้ำแห่งนี้มีส่วนสำคัญในการดำรงรักษาระบบนิเวศ และนิเวศบริการที่ทรงคุณค่าต่อมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นน้ำเพื่อการเกษตร หรือการประมง พื้นที่ป่าที่ช่วยลดทอนความเสียหายกรณีเกิดพายุ หรือน้ำท่วม รวมถึงเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจด้วย ทุกวันนี้ความเสื่อมโทรมของพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งอื่นๆ ในโลกกำลังกลายเป็นปัญหาสำคัญ เพราะพื้นที่เหล่านั้นมักเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่มากด้วยประโยชน์ต่อโลกใบนี้ เป็นพื้นที่ที่ช่วยเกื้อหนุนการดำรงอยู่ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นกนานาชนิด ปลา และสัตว์เลื้อยคลาน และยังเป็นแหล่งอนุบาลตัวอ่อนของหลายสายพันธุ์อีกด้วย โครงการฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำของแม่น้ำสงครามได้ช่วยอนุรักษ์ทั้งแหล่งน้ำ ปกป้องดูแลความสมบูรณ์ของระบบนิเวศเพื่อชุมชนในพื้นที่ เราขอแสดงความชื่นชมในวิสัยทัศน์ของธนาคาร  HSBC ที่ได้เห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ และให้การสนับสนุนโครงการของเราอย่างต่อเนื่อง ความสำเร็จในการเสนอพื้นที่ลุ่มน้ำสงครามเป็นพื้นชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากปราศจากการสนับสนุนของ HSBC”

มร. เคลวิน แทน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร HSBC  กล่าวเพิ่มเติมว่า “แม้เราจะดำเนินธุรกิจด้านการธนาคาร แต่เราก็ตระหนักดีว่า การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากปราศจากสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน สิ่งแวดล้อมที่เจริญเติบโต ย่อมนำมาซึ่งการดำรงอยู่ของชุมชน เศรษฐกิจ และธุรกิจที่เจริญรุ่งเรือง ธนาคาร HSBC จึงไม่ได้เพียงแค่ให้การสนับสนุนด้านเงินทุนต่อโครงการนี้ แต่เราได้นำพนักงานจิตอาสาเข้าไปร่วมกิจกรรมในโครงการที่พื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำสงครามหลายกิจกรรมเพื่อสร้างความเข้าใจอันดีต่อความสำคัญของการอนุรักษ์น้ำ และความรับผิดชอบต่อสังคมที่เราดำรงอยู่ การได้รับเสนอชื่อให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำนานาชาติ แสดงให้เห็นว่าโครงการนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของการอนุรักษ์น้ำ ที่ลงมือดำเนินการโดยชุมชนในพื้นที่เอง และช่วยฟื้นฟูพื้นที่ลุ่มน้ำแห่งนี้ ให้มีความอุดมสมบูรณ์”

นอกจากนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และคนในชุมชนจังหวัดนครพนม ได้มีความเห็นพ้องกันว่าแม่น้ำสงครามมีความสำคัญ และสนับสนุนการเสนอชื่อในครั้งนี้อย่างเป็นเอกฉันท์ ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ เป็นกลไกสำคัญในการดำเนินโครงการอนุรักษ์ และปกป้องพื้นที่นี้ จากการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วเกินกว่าความสามารถในการดำรงสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน จะตามได้ทัน พื้นที่แม่น้ำสงครามตอนล่างจึงนับเป็นพื้นที่ต้นแบบในการปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างยั่งยืน ของภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง


เกี่ยวกับ WWF
WWF คือหนึ่งในองค์กรเพื่อการอนุรักษ์ที่ได้รับความเชื่อถือมากที่สุด และเป็นอิสระมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีผู้ให้การสนับสนุนมากกว่า 5 ล้านคน และมีเครือข่ายทำงานอยู่ในประเทศต่าง ๆ กว่า 100 ประเทศ พันธกิจของ WWF คือ ลดการบุกรุก และยับยั้งการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพของโลก พร้อมไปกับสร้างอนาคตใหม่ให้มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างกลมกลืน ด้วยการอนุรักษ์ไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพของโลก สร้างหลักประกันให้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ผลักดันให้ลดมลภาวะ และลดการบริโภคอย่างสิ้นเปลือง
 
พื้นที่แม่น้ำสงครามตอนล่าง ว่าที่พื้นที่แรมซ่าแห่งที่ 15 ของไทย
© WWF-Thailand
พื้นที่แม่น้ำสงครามตอนล่าง ว่าที่พื้นที่แรมซ่าแห่งที่ 15 ของไทย
© WWF-Thailand
ข้อมูลเบื้องต้นพื้นที่ชุม่น้ำแม่น้ำสงครามตอนล่าง
© WWF-Thailand