188 ประเทศทั่วโลก ร่วมแสดงพลังปิดไฟ ในกิจกรรม Earth Hour 2018

Posted on March, 26 2018

25 มีนาคม 2561 –ประชาชน ภาคเอกชน และองค์กรต่างๆ ทั่วโลก กว่า 188 ประเทศ ได้ร่วมกันสร้างสถิติใหม่ในการเข้าร่วมกิจกรรม Earth Hour 2018 ด้วยการปิดไฟดวงที่ไม่จำเป็น และทำกิจกรรมเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและลดภาวะโลกร้อน เพื่อหยุดยั้งการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติ โดยมีสถานที่สำคัญเกือบ 18,000 แห่ง ที่ร่วมแสดงพลังด้วยการปิดไฟเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมง ขณะที่ผู้คนมากกว่า 3.5 พันล้านคนได้ร่วมแสดงความเห็นและเผยแพร่กิจกรรมที่ตนเองทำเพื่อสะท้อนความห่วงใยต่อโลกใบนี้ และติดแฮชแทค #EarthHour และ #Connect2Earth
 25 มีนาคม 2561 –ประชาชน ภาคเอกชน และองค์กรต่างๆ ทั่วโลก กว่า 188 ประเทศ ได้ร่วมกันสร้างสถิติใหม่ในการเข้าร่วมกิจกรรม Earth Hour 2018 ด้วยการปิดไฟดวงที่ไม่จำเป็น และทำกิจกรรมเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและลดภาวะโลกร้อน เพื่อหยุดยั้งการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติ โดยมีสถานที่สำคัญเกือบ 18,000   แห่ง ที่ร่วมแสดงพลังด้วยการปิดไฟเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมง ขณะที่ผู้คนมากกว่า 3.5 พันล้านคนได้ร่วมแสดงความเห็นและเผยแพร่กิจกรรมที่ตนเองทำเพื่อสะท้อนความห่วงใยต่อโลกใบนี้ และติดแฮชแทค #EarthHour และ #Connect2Earth

จากการรวบรวมข้อมูลโดยองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มและเผยแพร่กิจกรรม Earth Hour ขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 2007 เป็นต้นมา ในปีนี้ กิจกรรม Earth Hour ได้จัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่ง WWF จากทั่วโลกได้ร่วมกันรายงานภาพ คลิปวิดีโอวินาทีสำคัญ ตลอดจนสำรวจความสนใจเข้าร่วมของประชาชนในประเทศต่างๆ พบว่าประเทศต่างๆ ทั่วทุกมุมโลก จำนวน   188 ประเทศ ได้เข้าร่วมกิจกรรม Earth Hour ผ่านกิจกรรมการปิดไฟเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมง

สถานที่สำคัญซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ และเมืองต่างๆ เกือบ 18,000   แห่ง อาทิ โอเปร่ เฮ้าส์ ที่ซิดนีย์ ออสเตรเลีย หอนาฬิกา บิ๊กเบน กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โตเกียว สกายทรี กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ตึกเอมไพร์สเตท กรุงนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา  และ หอไอเฟล กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้ร่วมกิจกรรมครั้งนี้ โดยการปิดไฟเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมง ระหว่าง 20:30-21:30 น.
สำหรับประเทศไทย ที่กรุงเทพมหานครได้มีการจัดกิจกรรมหลักที่เซ็นทรัลพลาซ่า แกรนด์ พระราม 9 และมีการปิดไฟที่สถานที่สำคัญหลายแห่ง รวมถึง พระบรมมหาราชวัง วัดพระแก้ว วัดอรุณราชวรมหาวิหาร สะพานพระราม 8 และภูเขาทองวัดสระเกศ ขณะที่ตามต่างจังหวัด ได้มีหลายเมือง และเทศบาล จัดกิจกรรมรณรงค์ Earth Hour ในพื้นที่ของตน และร่วมปิดไฟด้วย อาทิ เทศบาลนครหาดใหญ่ จ.สงขลา เทศบาลเมืองป่าตอง จ.ภูเก็ต เทศบาลเมืองยโสธร จ.ยโสธร เทศบาลเมืองเขลางค์นคร ลำปาง เป็นต้น

ผลการจัดกิจกรรมปิดไฟหนึ่งชั่วโมง ลดโลกร้อน ที่ดำเนินโดยกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้รับความร่วมมือจากการไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ในการวัดปริมาณการใช้ไฟฟ้าระหว่างเวลา 20:30-21:30 น. นั้น ในปีนี้ สามารถลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลไปได้ 2,002 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นอัตราการลดการใช้ไฟฟ้าลงได้ 7,863,635 บาท เทียบเป็นปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ลดลงประมาณ 1,026 ตัน 

อย่างไรก็ตาม กิจกรรมปิดไฟในช่วง Earth Hour เป็นเพียงการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ของประชาชนทั่วโลกเท่านั้น แต่ความสำคัญที่แท้จริงอยู่ที่การตระหนักรู้ว่า ทุกพฤติกรรมของเราล้วนแล้วแต่เชื่อมโยงและส่งผลกระทบไปถึงโลกใบนี้ทั้งสิ้น ดังนั้น WWF จึงได้ออกแคมเปญรณรงค์ให้คนทั่วโลกเห็นความสำคัญของการเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อโลก ภายใต้คอนเซปต์ #Connect2Earth ระหว่างปี ค.ศ. 2018-2020
 
สำหรับ WWF- ประเทศไทย ได้จัดแคมเปญ #ลดเพราะรักษ์ เชิญชวนให้คนไทยหันมาร่วมปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ผ่านกิจกรรม กลุ่ม Earth Hour Challenge ภารกิจลดเพราะรักษ์ ด้วยการลดการสร้างขยะพลาสติก และลดการใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลือง เช่น ลด-ละ การใช้หลอดพลาสติก หรือภาชนะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวโดยนำแก้วน้ำ หรือภาชนะบรรจุ ของตนเองติดตัวไปเพื่อใช้งานนอกบ้าน การแยกขยะเพื่อนำวัสดุเหลือใช้บางอย่างกลับมาใช้ใหม่ หรือนำไปแปรสภาพเพื่อสร้างประโยชน์ในรูปแบบอื่น เป็นต้น
 
กิจกรรมรณรงค์ Earth Hour จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยปกติจะกำหนดให้จัดในวันเสาร์สุดท้ายของเดือนมีนาคม และในปี 2019 ได้มีการกำหนดให้จัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2562

--------------------------------------------------------

 รายละเอียดเพิ่มเติม
ภาพกิจกรรม Earth Hour ทั่วโลก สามารถเข้าดูได้ ที่นี่ หรือติดต่อขอภาพวิดีโอที่ news@wwfint.org
Link to Earth Hour 2018 official #Connect2Earth video: https://youtu.be/UZYiJLH2toY
Link to Earth Hour #Connect2Earth how-to video: https://youtu.be/Hr1rC6Dut-U
Link to Earth Hour's 10 years of impact video: https://youtu.be/CZp4LX4AYnM

รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ connect2earth สามารถติดตามได้ ที่นี่.
 
ข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
ณิชนันท์ ตัญธนาวิทย์ หรือ นิรมล สูนยะไกร
ฝ่ายสื่อสารองค์กร  WWF – ประเทศไทย
อีเมล: nTanthanawit@wwfgreatermekong.org
nSoonyakrai@wwfgreatermekong.org  
โทรศัพท์: (+66) 2619 8521-2 Ext.312, 321
(+66) 83 816 0006, (+66) 94 639 4993

 
 
WWF
© WWF
WWF-Thailand
© WWF-THAILAND