วิกฤตอาหารทะเล
Posted on June, 08 2017
หากท้องทะเลว่างเปล่า ท้องของเราจะว่างด้วย
แม้ประเทศไทยมีแนวโน้มการส่งออกอุตสาหกรรมอาหารที่เพิ่มขึ้นทุกปี และยังครองแชมป์การส่งออกเป็นอันดับที่ 1 ของโลกในปี 2558 ที่ผ่านมาโดยสามารถสร้างมูลค่าให้ประเทศได้มากกว่า 897,529 ล้านบาท แต่สถานการณ์ความมั่นคงทางอาหารกลับสวนทางอย่างรุนแรงกับผลประโยชน์ที่ถูกดึงดูดไปสู่กลุ่มธุรกิจเหล่านี้โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรสัตว์น้ำที่เกิดจากการทำประมงเกินขนาด และปัญหาความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศน์ชายฝั่งอันสืบเนื่องมาจากการใช้เครื่องมือประมงที่ขาดความรับผิดชอบ ปัจจุบันพบว่ายังมีการใช้อวนลากและอวนรุนที่มีขนาดตาถี่เพียง 10-20 มม. ในอุตสาหกรรมประมงไทย อวนเหล่านี้จะขูดอยู่กับพื้นทะเลยาวขึ้นไปถึงผิวน้ำและถูกเรือประมงลากไปไกลเพื่อให้ได้ปลามากที่สุดโดยไม่คำนึงว่าจะเกิดความเสียหายทางธรรมชาติมากเพียงใด การลากอวนในลักษณะนี้จะเป็นการกวาดเอาทุกสิ่งทุกอย่างที่เกินความจำเป็น เพราะไม่ใช่แค่เพียงการจับสัตว์น้ำเป้าหมายที่ต้องการ แต่ยังกวาดเอาสัตว์น้ำวัยอ่อน สัตว์น้ำมีไข่ และสัตว์น้ำหายากขึ้นไปด้วย พร้อมกันนั้นก็ได้สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศน์หน้าดิน แนวปะการัง และหญ้าทะเล ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย ที่หลบภัย และที่ขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำให้พังทลายไปอย่างน่าเสียดาย และในขณะเดียวกันการใช้เครื่องมือประมงเหล่านี้ยังได้ไปทําลายอุปกรณ์หาปลาขนาดเล็กของชาวประมงท้องถิ่นที่วางไว้สำหรับดักจับสัตว์ตามร่องน้ำเพื่อหาเลี้ยงชีพอีกด้วย
ผลกระทบจากการทำประมงแบบทำลายล้างนี้จึงนับว่าสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อหลายฝ่ายและไม่อาจประเมินเป็นมูลค่าได้อย่างชัดเจน เพราะท้องทะเลต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟูตัวเองให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง ซึ่งในบางพื้นที่ที่ถูกทำลายไปอาจเป็นการสร้างแผลที่บาดลึกให้กับท้องทะเลและยากเกินที่จะเยียวยาความเสียหายนั้นได้ในชั่วอายุคน
เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า จากสภาพปัญหาการทำประมงที่เกินขนาดและการใช้เครื่องมือประมงที่ไม่เหมาะสมในปัจจุบันส่งผลกระทบโดยตรงต่อปริมาณสัตว์น้ำและระบบนิเวศน์ใต้ท้องทะเลอย่างเลี่ยงไม่ได้เลย จากการทำสถิติของกรมประมงในรอบกว่า 50 ปีที่ผ่านมาพบว่าในอดีตเราเคยใช้อวนลากจับสัตว์น้ำได้มากถึง 300 กิโลกรัมในเวลาเพียง 1 ชั่วโมง แต่ ณ ปัจจุบัน ด้วยเครื่องมือและเวลาที่เท่ากันเราจะจับสัตว์น้ำได้เพียง 2-7 กิโลกรัมเท่านั้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการกวาดล้างทำลายระบบนิเวศน์ใต้ท้องทะเลจากการทำประมงในลักษณะดังกล่าวทำให้สัตว์น้ำขาดแหล่งเพาะพันธุ์และเจริญเติบโต จึงไม่สามารถเพิ่มจำนวนประชากรสัตว์น้ำขึ้นมาทดแทนได้ทันตามความต้องการของผู้บริโภค
โดยมีการคาดการณ์กันไว้ว่าภายในปี ค.ศ.2048 หากปัญหาการทำประมงที่ไม่ยั่งยืนยังไม่ถูกแก้ไขอย่างจริงจัง อาจส่งผลให้ท้องทะเลไม่สามารถฟื้นฟูประชากรสัตว์น้ำกลับมาให้เราได้บริโภคอย่างเพียงพอ สัตว์ทะเลและปลาหลายชนิดจะสูญพันธุ์ไป และในท้ายที่สุดเราอาจต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหารทะเลทั่วโลก มหันตภัยที่เกิดขึ้นกลางท้องทะเลนี้คือราคาที่เราต้องหันกลับมาถามตัวเองว่า เราจะ ‘ยอมจ่าย’ เพื่อป้องกันและแก้ไขมันหรือไม่ และเราจะจ่ายด้วยอะไร
WWF-ประเทศไทยได้ตระหนักถึงปัญหาอันเร่งด่วนดังกล่าวซึ่งไม่เพียงส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่ยังสร้างความเสียหายอย่างมหาศาลต่อระบบนิเวศน์ใต้ท้องทะเล เราจึงเริ่มผลักดันให้เกิดการปรับปรุงการทำประมงรวมทั้งการจัดการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ยั่งยืนขึ้นในประเทศไทย โดยความร่วมมือกับ 8 สมาคมประมง ในนามของ Thai Sustainable Fisheries Roundtable (TSFR) ภายใต้มาตรฐานการทำประมงของสำนักงานคณะกรรมการรับรองมาตรฐานสินค้าประมง (MSC – Marine Stewardship Council) และสำนักงานคณะกรรมการรับรองมาตรฐานการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (ASC – Aquaculture Stewardship Council) เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายได้ปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าว โดยทุกผลิตภัณฑ์อาหารทะเลจะต้องได้มาด้วยวิธีที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม มีความโปร่งใสในระบบห่วงโซ่อุปทาน สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาย้อนกลับได้ (traceable) และเคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชนโดยการปฏิบัติต่อแรงงานในระบบอย่างเป็นธรรม
ในฐานะผู้บริโภคแล้ว ปัญหาการทำประมงที่ไม่ยั่งยืนและความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศน์ในทะเล อาจดูเป็นเรื่องไกลตัวที่เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แต่ในทางกลับกัน ผู้บริโภคนั่นเองคือหัวใจสำคัญของเรื่องนี้ เพราะผู้บริโภคที่ตระหนักในเรื่องจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมจะสามารถสร้างให้เกิดกระแส ‘การบริโภคอย่างยั่งยืน’ ที่จะกลายมาเป็นแรงผลักดันให้ภาคธุรกิจปรับตัวเพื่อตอบสนองด้านการผลิตที่ยั่งยืนและการเคารพต่อกฏข้อบังคับต่างๆอย่างเข้มงวดมากขึ้น ทัศนคติของผู้บริโภคจึงถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการกระตุกความสนใจของภาคธุรกิจให้หันมาตื่นตัวเรื่องความยั่งยืนของทรัพยากรในประเทศ ไม่ควรหันหลังให้กับความจริงที่ว่าทรัพยากรเหล่านั้นอาจหมดไปในสักวัน
ความหมายเพิ่มเติมของ ‘การบริโภคอย่างยั่งยืน’ นอกเหนือไปจากการทำเพื่อผลประโยชน์ระยะยาวของทุกฝ่ายแล้ว คือการบริโภคที่ตอบสนองต่อความต้องการของคนรุ่นปัจจุบันโดยไม่มีผลกระทบทางลบต่อความต้องการของคนรุ่นต่อไปในอนาคต ดังนั้น หากทุกคนหันมาใส่ใจกับการเลือกผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่มีกระบวนการจับสัตว์น้ำด้วยวิธียั่งยืนและเป็นธรรม เราอาจยังมีโอกาสที่จะเห็นทะเลไทยกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง เพื่อให้ท้องทะเลของเรามีอาหารส่งต่อไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน อนาคตของท้องทะเลไทยและอนาคตของอาหารทะเลที่เราชื่นชอบขึ้นอยู่กับการ ‘ยอมจ่าย’ ด้วยเวลาในการศึกษาแหล่งที่มาของอาหารในแต่ละมื้อ เวลาที่เราจะเลือกซื้อและถามหาผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนจากผู้จำหน่าย เวลาที่เราจะบอกต่อไปยังครอบครัว เพื่อนฝูง และเครือข่ายต่างๆให้ยอมรับในแนวทาง ‘การบริโภคอย่างยั่งยืน’ และปฏิเสธการบริโภคที่เอาเปรียบธรรมชาติ เราจะ ‘ยอมจ่าย’ ด้วยสิ่งเหล่านี้หรือไม่
ถึงเวลาแล้วที่เราต้องช่วยกันดูแลท้องทะเลให้ดีเสมือนดูแลร่างกายของเราเอง เพราะเมื่อท้องทะเลอิ่มเต็มไปด้วยสัตว์น้ำนานาชนิด.. ท้องเราก็อิ่มไปด้วย